“ไขมัน” สารอาหารจำเป็นต่อร่างกาย
image

ทำความรู้จักไขมันดีและไขมันไม่ดี
ไขมันใช่ว่าจะมีแต่โทษเสมอไป เพราะถูกแบ่งออกเป็นไขมันดีที่ให้ประโยชน์ต่อร่างกายและไขมันไม่ดีที่หากกินในปริมาณที่ไม่เหมาะสมจะส่งผลให้เกิดโรคต่าง ๆ ในอนาคต โดยความแตกต่างของไขมันทั้ง 2 ชนิด มีดังนี้

ไขมันดี High Density Lipoprotein (HDL)
หากผลการตรวจเลือดของคุณมีปริมาณไขมันดีอย่างเหมาะสม เรื่องนี้น่ายินดีอย่างยิ่ง เพราะไขมันดี คือไขมันที่มีกรดไขมันไม่อิ่มตัวสูง เต็มไปด้วยกรดไขมันที่จำเป็นต่อร่างกาย อีกทั้งมีส่วนช่วยในการลดคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดีและช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอลชนิดที่ดี ซึ่งจะช่วยลดการเกิดโรคหัวใจ โรคหลอดเลือด และโรคอื่น ๆ ที่มีไขมันเป็นสาเหตุของการเกิดโรค


ไขมันไม่ดี Low Density Lipoprotein (LDL)
ไขมันที่มีกรดไขมันอิ่มตัวสูง ต้นเหตุของการเกิดโรคร้าย เนื่องจากไขมันประเภทนี้จะไปสะสมตามอวัยวะต่าง ๆ เช่น หน้าท้อง แขน ขา หลอดเลือด รวมถึงอวัยวะภายในอื่น ๆ โดยอาหารที่มีไขมันประเภทนี้แฝงตัวอยู่คืออาหารประเภทเนื้อสัตว์ ไขมันจากสัตว์และไขมันจากพืชบางชนิด และสำหรับใครที่เข้าข่ายเป็นผู้ได้รับไขมันอิ่มตัวปริมาณสูง แนะนำให้ตรวจเลือดเป็นประจำ เพื่อติดตามค่าไขมันในร่างกาย


1. รู้จักเลือกรับประทานไขมันให้เป็น
คำถามคือเราจะรู้ได้อย่างไรว่า ควรจะเลือกรับประทานไขมันประเภทไหน แล้วแบบไหนที่เรียกว่าไขมันดี จริงๆ แล้วเรื่องนี้ง่ายนิดเดียว ไขมันดีคือไขมันประเภทไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน พบได้ในน้ำมันที่สกัดจากพืช ไขมันทั้งสองประเภทนี้มีคุณสมบัติในการลดไขมันไม่ดีในเลือดหรือโคเลสเตอรอลตัวร้ายอย่าง LDL ซึ่งช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจ โดยเราสามารถเลือกรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยน้ำมันที่สกัดจากพืชอย่างน้ำมันมะกอก ที่อุดมไปด้วยไขมันดีทั้ง 2 ประเภทนี้ นอกจากนี้ ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อนที่มีอยู่ในน้ำมันมะกอกยังประกอบไปด้วยกรดไขมันที่ช่วยเสริมสร้างการเจริญเติบโตของเซลล์ และยังเป็นแหล่งพลังงานที่ดีต่อสุขภาพอีกด้วย

2. ไขมันดี ยิ่งกิน ยิ่งได้ประโยชน์
ปริมาณไขมันที่แนะนำให้คนทั่วไปซึ่งมีน้ำหนักอยู่ในเกณฑ์มาตรฐานรับประทานคิดเป็น 20-35% ของปริมาณพลังงานที่ควรได้รับต่อวัน นอกจากไขมันจะมีหน้าที่ให้พลังงานแก่ร่างกายแล้ว ยังมีบทบาทสำคัญในการส่งเสริมพัฒนาการของสมองอีกด้วย เชื่อหรือไม่ว่ากว่า 60% ของสมองคนเราเป็นส่วนประกอบของไขมันทั้งสิ้น เพราะเหตุนี้ ร่างกายเราจึงต้องการไขมันดี ซึ่งจะทำหน้าที่หล่อเลี้ยงและบำรุงสมอง

ผลงานวิจัยของศาสตราจารย์แกรี่ แอล เว็งค์ ศาสตราจารย์ภาคประสาทวิทยา มหาวิทยาลัยโอไฮโอสเตต แสดงให้เห็นว่าอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวมีส่วนช่วยในด้านการรับรู้และความจำ กล่าวคือ ไขมันดีจะช่วยลดโอกาสการสูญเสียความทรงจำ1 นอกจากนี้ ดร. เดวิด เพิร์ลมัทเทอร์ ผู้เชี่ยวชาญด้านประสาทวิทยาและผู้แต่งหนังสือ Grain Brain ยังอธิบายอีกว่า ไขมันทำหน้าที่ช่วยสร้างเซลล์ประสาทและยังทำหน้าที่เสมือนเชื้อเพลิงที่ขับเคลื่อนให้สมองทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น

3. ไขมันดี ยิ่งกิน ยิ่งผอม
การรับประทานอาหารที่มีองค์ประกอบของไขมันดีในปริมาณที่เหมาะสมยังสามารถช่วยให้การลดน้ำหนักเป็นเรื่องง่ายขึ้นอีกด้วย2 จากการทดสอบกับกลุ่มตัวอย่าง พบว่ากลุ่มคนที่รับประทานอาหารที่มีไขมันดีจะอิ่มไวและนานกว่า เมื่อเทียบกับอีกกลุ่มที่ไม่ได้รับประทานอาหารที่มีไขมันเป็นส่วนประกอบ ที่เป็นเช่นนี้ก็เพราะเมื่อไขมันถูกดูดซึมเข้าสู่ร่างกายจะทำให้ระบบย่อยอาหารทำงานช้าลง ร่างกายจึงรู้สึกอิ่มเร็วขึ้นและความอยากอาหารก็ลดลงไปด้วย ส่งผลให้เรารับประทานอาหารในแต่ละมื้อได้น้อยกว่าปกติ ดังนั้น การรับประทานอาหารที่อุดมไปด้วยไขมันดี จึงเป็นอีกหนึ่งตัวช่วยลดน้ำหนักได้อย่างดีเยี่ยม

4. อาหารอุดมไปด้วยไขมันดี
น้ำมันมะกอก: อุดมไปด้วยไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวมากกว่าน้ำมันชนิดอื่นๆ ซึ่งดีต่อหัวใจ และยังมีสาร โพลีฟีนอล ที่มีคุณสมบัติต้านอนุมูลอิสระ ช่วยลดความเสี่ยงของการเกิดโรคหัวใจและช่วยป้องกันการเกิดโรคมะเร็งได้

ปลาแซลมอน: แหล่งของกรดไขมันโอเมก้า 3 ชั้นเยี่ยม ช่วยลดอาการอักเสบได้เป็นอย่างดี

อโวคาโด: แหล่งของไขมันดี เต็มไปด้วยคุณประโยชน์ของสารต้านอนุมูลอิสระและวิตามินอี

ถั่ววอลนัท: อุดมไปด้วยประโยชน์จากกรดไขมันโอเมก้า 3 โดยเฉพาะกรดไขมันแอลฟาไลโนเลอิก

ถึงเวลาแล้วที่เราจะมาสร้างความเข้าใจที่ถูกต้องต่อการรับประทานไขมันกัน และอย่าลืมว่าไขมันเป็นหนึ่งในส่วนสำคัญของมื้ออาหารที่ขาดไม่ได้ โดยเราสามารถเริ่มต้นได้ง่ายๆ เพียงเปลี่ยนจากการงดรับประทาน

ไขมัน เป็นเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันดีมีประโยชน์ต่อร่างกาย เพียงแค่นี้เราก็จะเห็นผลลัพธ์ที่ยิ่งใหญ่ได้ไม่ยากเลย

Powered by MakeWebEasy.com
เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพและประสบการณ์ที่ดีในการใช้งานเว็บไซต์ของท่าน ท่านสามารถอ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว  และ  นโยบายคุกกี้