ทำความรู้จักกับ “โรคออฟฟิศซินโดรม”
โรคออฟฟิศซินโดรม (Office syndrome) หรือกลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด (Myofascial pain syndrome) เป็นผลมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ เป็นเวลานานอย่างต่อเนื่อง รวมถึงการอักเสบของเนื้อเยื่อและเอ็น (Tendinitis) หรือเป็นอาการชาจากปลายประสาทที่ถูกกดทับนานๆ มักพบบ่อยในผู้ที่ต้องทำกิจกรรมอยู่กับที่เป็นเวลานาน เช่น พนักงานออฟฟิศ ผู้ใช้แรงงาน นักกีฬา หรือผู้หญิงที่ต้องใส่ส้นสูงยืนทั้งวัน
สาเหตุของโรคออฟฟิศซินโดรม
เนื่องจากโรคออฟฟิศซินโดรมเป็นโรคที่มาจากการใช้กล้ามเนื้อมัดเดิมซ้ำๆ นานๆ ดังนั้นสาเหตุของโรคจึงมาจากพฤติกรรมเหล่านี้
ท่าทางการนั่ง ส่วนใหญ่มักเกิดในผู้ที่นั่งทำงานผิดท่าเป็นเวลานาน การวางมือ วางศอกบนโต๊ะในลักษณะที่ไม่ถูกต้อง หรือการใช้ข้อมือซ้ำๆ จากการใช้เมาส์ ซึ่งทำให้เกิดการบาดเจ็บบริเวณข้อมือได้
สิ่งแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ระดับหน้าจอคอม ระยะห่างจากจอกับดวงตา หรือแม้แต่แสงสว่างภายในห้องก็มีผลทำให้ท่าทางการนั่งผิดไปหรือไม่เหมาะสม
อาการแบบไหน เข้าข่ายออฟฟิศซินโดรม?
ปวดกล้ามเนื้อบริเวณบ่า ไหล่ หรือสะบัก โดยจะปวดแบบกว้างๆ ไม่สามารถระบุตำแหน่งที่ปวดได้ชัดเจน ซึ่งเมื่อมีอาการมักจะเป็นเรื้อรังไม่หายขาด
ปวดหลัง ปวดเมื่อยต้นคอ แบบมีอาการยึดเกร็งอยู่ตลอดเวลา
ปวดตึงบริเวณขา หรือมีอาการเหน็บชาที่ขา
มีอาการมือชา แขนชา นิ้วล็อก หรือปวดข้อมือ รวมถึงอาการอ่อนแรง
เหงื่อออก วูบ ตาพร่า หูอื้อ หรือมึนงง ร่วมกับอาการข้างต้น
มีอาการปวดร้าวไปยังส่วนต่างๆ เช่น ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ปวดร้าวไปที่ไหล่ แขน หรือขา โดยจะสัมพันธ์กับท่าทางของเรา
ดังนั้น คนทำงานควรสังเกตตัวเองบ่อยๆ หากมีอาการเตือนเหล่านี้ คุณอาจกำลังเข้าข่ายเสี่ยงเป็นโรคออฟฟิศซินโดรม ซึ่งหากปล่อยไว้อาการจะรุนแรงขึ้น และยังเป็นสาเหตุให้เกิดโรคอื่นๆ ตามมาได้ เช่น โรคหมอนรองกระดูกทับเส้นประสาท โรคหมอนรองกระดูกปลิ้น หรือโรคกระดูกสันหลังคด เป็นต้น
ดังนั้นเมื่อรู้ว่าตนเองมีความเสี่ยงหรือมีอาการดังกล่าว ควรเข้ารับการตรวจวินิจฉัยโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญ เพื่อจะได้รู้สาเหตุที่แท้จริงและรู้วิธีป้องกัน หรือรีบรักษาก่อนอาการจะลุกลามจนมีความทรมานและรักษายากขึ้น